วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

โลกยุคหลังสมัยใหม่ (Post Modern)

แนวคิดหลังยุคนวนิยม (อังกฤษ : Postmodernism)
          บางทีใช้คำว่าหลังสมัยใหม่ หรือแนวคิดหลังสมัยใหม่ เป็นแนวคิดทางการเมือง ปรัชญา วัฒนธรรม สังคม ดนตรี และอื่น ๆ ที่ก่อตัวขึ้นโดยมีมุมมองที่ต่างออกไปจากมุมมองทางความคิดแบบเดิม ๆ ของโลก ไม่ว่าจะแนวคิดลัทธิก่อนสมัยใหม่ หรือแนวคิดลัทธิสมัยใหม่ แนวคิดหลังสมัยใหม่ถูกจัดเข้ารวมกับทฤษฎีสายวิพากษ์ (Critical Theory/Critical Scholar)
การกำเนิดของแนวคิดหลังสมัยใหม่
          ในช่วงปลายสมัยใหม่ของภูมิปัญญาตะวันตก มีความเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างถูกสร้างขึ้นเพื่อความทันสมัย บางครั้งก็เรียกรวมๆว่าความคิดแบบสมัยใหม่นิยม (modernism) กล่าวได้ว่าความคิดทันสมัยมีรากเหง้ามาจากทฤษฎีความคิดในยุคภูมิปัญญา (enlightenment) นักคิด นักปรัชญาการเมืองในยุคสมัยใหม่แข่งขันกันนำเสนอวิสัยทัศน์ที่เกี่ยวกับชีวิตที่ดี สังคมที่ดี ที่สำคัญคือ แนวคิดเสรีนิยม (liberalism) ที่เห็นว่าปัจเจกบุคคลต้องสละประโยชน์ส่วนตัว หาทางสร้างระบบการเมืองเสรีประชาธิปไตยขึ้นมารองรับ กับแนวคิดมาร์กซิสม์ ที่ต่างต้องการสร้างโลกใหม่ที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การขูดรีดจากระบบทุนนิยม ความเชื่อในยุคสมัยใหม่กล่าวได้ว่ามีศรัทธาแรงกล้าต่อความก้าวหน้า (idea of progress) การที่สังคมมีหลักพื้นฐานอันประกอบด้วยสัจจะ ค่านิยมหลัก และความเชื่อมั่นเรื่องสังคมก้าวหน้ารวมเรียกกันว่าแนวคิดสถาปนานิยม (foundationism) ที่พยายามสถาปนาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวให้เกิดขึ้นในสังคมผ่านการสร้างค่านิยม, ความเชื่อต่างๆขึ้นมาครอบครองความคิดมนุษย์ในสังคม
          ในเวลาต่อมาจึงเกิดความคิดหลังสมัยใหม่ (postmodern) ที่เสนอให้ปฏิเสธความแน่นอน หนึ่งเดียว นักคิดหลังสมัยใหม่ ปฏิเสธเรื่องสัจจะสมบูรณ์สูงสุดเป็นสากล โดยเห็นว่าเป็นเพียงการโอ้อวด แต่เสนอว่าไม่มีศูนย์กลางความเป็นหนึ่งเดียว และสังคมดำรงอยู่อย่างแตกต่างหลากหลาย (diversity) ความคิดและแนวคิดใดๆทั้งหมดเป็นเรื่องที่ได้รับการแสดงออกในรูปภาษาโดยที่ภาษาหรือการใช้ภาษาสื่อความหมายนั้นล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางอำนาจอันซับซ้อน ดังนั้นปรัชญาและทฤษฎีการเมืองจึงมิอาจอยู่เหนือ หรือตัดขาดจากความสัมพันธ์ทางอำนาจ เช่นกันกับมิอาจให้ความรู้ความเข้าใจได้ด้วยการเป็นกลางไม่โอนเอียง ทฤษฎีการเมืองหรือสัจจะหรือความรู้ใดๆเป็นส่วนหนึ่งโดยนัยของความสัมพันธ์ทางอำนาจที่นักวิชาการกำลังวิเคราะห์อยู่ นักคิดหลังสมัยใหม่จึงมีลักษณะตั้งข้อกังขาอย่างไม่ลดละต่อสภาพความเป็นจริงใดๆที่ดูหนักแน่นสมบูรณ์ และความเชื่อต่างๆที่พากันยึดถืออย่างไม่ลืมหูลืมตา
          สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้กล่าวกันว่าได้ก้าวเข้าสู่ยุคหลังสมัยใหม่ (postmodern era) คือความคิดที่ว่าสิ่งที่เป็นจริง (the real) กับสิ่งที่ปรากฏ (apparent) นั้นอาจไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ซึ่งเป็นความคิดของฟรีดริช นิทซ์เชอ (Friedrich Wilhelm Nietzsche) ซึ่งความคิดดังกล่าวเข้าไปมีอิทธิพลในวงการศิลปะในช่วงทศวรรษที่ 1920 กล่าวได้ว่าแนวคิดหลังสมัยใหม่ (postmodern) คือการเคลื่อนไหวทางความคิดและวัฒนธรรมที่ต่อต้านนิยาม, ความเชื่อ, ค่านิยม, จารีต, ประเพณีฯลฯ อาทิองค์รวม (totality), ความเป็นเหตุเป็นผล (rationality), ความเป็นสากล(universality), ความเป็นวัตถุวิสัย (objectivity) ฯลฯ ซึ่งนักคิดหลังสมัยใหม่จะตั้งคำถามต่อสิ่งเหล่านี้ในฐานะที่ต่างเป็นเพียง เรื่องเล่าหลัก (meta-narrative)” ที่เกิดขึ้นมาจากข้ออ้างของความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ของแนวคิดสมัยใหม่ (modernism)

อ้างอิงจาก
th.wikipedia.org/wiki/แนวคิดหลังยุคนวนิยม

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อิทธิพลของศิลปวัฒนธรรมตะวันตกในประเทศไทย

อิทธิพลของศิลปวัฒนธรรมตะวันตกในประเทศไทย
          นับจากรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ศิลปะไทยอยู่ในช่วงการปรับตัวระหว่างรูปแบบตามประเพณีนิยมกับศิลปะทางตะวันตกของยุโรป แม้ว่ายังมีการสร้างศิลปะตามแบบประเพณีนิยมอยู่บ้างแต่ไม่มากเท่าตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อเจ้านายและขุนนางชั้นสูงออกไปศึกษาในประเทศตะวันตก พระมหากษัตริย์เสด็จประพาสประเทศในเอเชียและประเทศทางยุโรป รวมทั้งการจ้างชาวตะวันตกที่เป็นสถาปนิก จิตรกร ประติมากร และนักวิชาการทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เข้ามาทำงานในเมืองไทย ศิลปะแบบตะวันตกเริ่มฝังรากลงในสังคมและวัฒนธรรมไทย ผลักดันให้เกิดการพัฒนาแนวความคิดและวิธีการแสดงรูปแบบทางศิลปกรรมทุกด้าน
สถาปัตยกรรม
          มีการสร้างวัดวาอารามขึ้นเป็นจำนวนมาก ปรากฏมีอิทธิพลการสร้างแบบหลังคาโดมโค้ง ซึ่งเป็นการรับอิทธิพลจากตะวันตก เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม แนวศิลปะผสมระหว่างไทยกับตะวันตก เช่น พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
ประติมากรรม
          ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ประติมากรรมที่สร้างขึ้นจะได้รับอิทธิพลศิลปะตะวันตก แม้แต่การปั้นพระพุทธรูปให้เหมือนมนุษย์ยิ่งขึ้น มีการหล่อ การปั้น การแกะสลักพระพุทธรูปและรูปสัตว์สิงโต มีการปั้นรูปแบบคนเหมือนจริงขึ้นเป็นรูปปั้นอนุสาวรีย์ของรัชกาลต่างๆ
         งานประติมากรรมอื่นๆมักจะเป็นงานจำหลักหินอ่อนหรือหล่อสำริดส่งมาจากยุโรป ถือเป็นการเริ่มรับแบบอย่างการปั้นภาพเหมือนและอนุสาวรีย์ตะวันตก
จิตรกรรม
          นับจากสมัยรัชกาลที่ 4 จิตรกรรมไทยได้รับอิทธิพลของศิลปะตะวันตกเข้ามาผสมผสานทำให้เกิดศิลปะรูปแบบใหม่ กล่าวคือได้มีการนำวิทยาการสมัยใหม่ของตะวันตกในการสร้างภาพมนุษย์ที่เน้นความเหมือนจริงมาผนวกเข้ากับวิทยาการของไทยที่เขียนภาพแบบอุดมคติ งานเหล่านี้มีให้เห็นอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังของ ขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกสมัยรัชกาลที่ 4

จิตรกรรมฝาผนังของขริวอินโข่ง


อ้างอิงจาก

วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เทพเจ้าในความเชื่อของชาวตะวันตก

โพไซดอน(Posidon) เทพแห่งท้องทะเล


          โพไซดอนเป็นโอรสองค์ที่ 5 ของเทพไททันโครนอส เป็นพี่ชายของซูสมหาเทพ เมื่อแรกกำเนิดถูกโครนอสเทพบิดากลืนลงท้องเพราะกลัวว่าเมื่อโตขึ้นจะมาโค่นอำนาจของตนเองตามคำสาปแช่งของอูรานอส เมื่อซูสรบชนะโครนอส ก็ให้มีทิสปรุงยาสำรอกให้โครนอสดื่ม โครนอสจึงสำรอกโพไซดอนและพี่ๆ อีก 4 องค์ออกมา
          หลังจากช่วยซูสให้ชนะศึกไททันแล้วซูสก็ได้แบ่งอำนาจให้โพไซดอนปกครองทะเล แม่น้ำ และลำธาร ส่วนโอเชียนัสผู้ปกครองทะเลเดิมให้คงเหลืออำนาจในการปกครองมหาสมุทรรอบนอกที่เป็นห้วงน้ำใหญ่ไหลวนรอบโลกซึ่งไม่มีความสำคัญอะไรเลย
          โพไซดอนนั้นมีอำนาจในการควบคุมพายุและความสงบในท้องทะเล มีพาหนะเป็นราชรถทองคำเทียมม้าเนรมิตตัวใหญ่ มีอาวุธเป็นตรีศูลที่ยักษ์ไซคลอปส์สร้างให้เมื่อคราวรบในศึกไททัน  โพไซดอนมีปราสาทอยู่ใต้ทะเล เมื่อยามที่จะขึ้นมาตรวจตราผืนน้ำ ทะเลก็จะแหวกเป็นช่องให้ราชรถทองโผล่พ้นน้ำขึ้นมา เมื่อยามท่องทะเลธรรมดา ผืนน้ำก็เงียบสงบปราศจากคลื่นลม แต่หากโพไซดอนขยับตรีศูลเมื่อใด ผืนน้ำนั้นก็จะปั่นป่วนกลายเป็นทะเลบ้าไปทันที โพไซดอนจึงเป็นเทพแห่งทะเล เรียกว่า โพไซดอนเจ้าสมุทร แต่บางครั้งก็เรียกว่า เทพผู้เขย่าโลก
          ครั้งหนึ่งโพไซดอนเคยคิดที่จะโค่นอำนาจของซูส โดยร่วมมือกับเฮราและอะธีนา แต่ไม่สำเร็จ จึงถูกซูสลงโทษ โดยการให้ไปสร้างกำแพงเมืองทรอยร่วมกับอพอลโล
          โพเซดอนมีมเหสีองค์หนึ่งคือแอมฟิไทรท์ ซึ่งเป็นนีริอิด หรือบุตรสาวของ นีริอัสและดอริส โพไซดอนเห็นนางเต้นรำร่วมกับเหล่านีริอิดอื่นๆ จึงลักพาตัวนางไปเป็นชายาในดินแดนใต้สมุทร
          ชายาอีกองค์หนึ่งของโพไซดอนเป็นหญิงรับใช้ของอะธีนา คือ เมดูซ่า ก่อนที่จะถูกสาบให้มีผมเป็นงู เพราะหลงใหลในความงามของเมดูซ่า เมื่ออะธีนาทราบเรื่องจึงสาบเมดูซ่าให้เป็นปีศาจที่มีผมเป็นงู และเมื่อมองใครก็จะกลายเป็นหินไปหมด เมื่อเปอร์ซิอุสตัดศีรษะของเมดูซ่าแล้ว เลือดของเมดูซ่าที่กระเซ็นออกมา กลายเป็นม้าบินสองตัว คือ เพกาซัส (Pegasus) และ คริสซาออร์ (Chrysaor) ดังนั้นจึงถือว่า ทั้งเพกาซัสและคริสซาออร์เป็นลูกของโพเซดอนด้วย
          ในสมัยโบราณ ที่แหลมสุนิอ้อน ห่างจากกรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซไม่มาก มีวิหารที่สร้างถวายแด่โพเซดอนอยู่
 
อ้างอิงจาก